top of page
ค้นหา

อยากใช้ CCR ต้องอ่าน (Closed Circuit Rebreather คืออะไร?)

CCR หรือ Closed Circuit Rebreather นั้น เป็นอุปกรณ์ดำน้ำลึกแบบ SCUBA อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากที่เราใช้กันเป็นปกติ ซึ่งเราจะเรียกระบบที่เราคุ้นเคยกันอยู่นั้นว่า Open Circuit ซึ่งสังเกตุได้ชัดเจนจากการที่เรานำก๊าซในถังมาใช้ในการหายใจเข้า และเมื่อหายใจออก ก๊าซก็จะออกสู่ด้านนอกเป็นฟองก๊าซออกไป แต่การดำน้ำแบบ Closed Circuit นั้น เป็นการดำน้ำในระบบปิด ซึ่งจะนำลมหายใจของนักดำน้ำนั้นวนกลับมาใช้ซ้ำๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักดำน้ำแบบ Technical Diving และ Military Diving และปัจจุบันเริ่มแพร่หลายในหมู่นักดำน้ำนันทนาการในประเทศไทย ซึ่งบทความนี้จะพาเรามาดูหลักการทำงาน, ประเภท, ข้อดี, ข้อเสีย, และเงินทุนที่ต้องใช้ เพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนเดินทางสาย CCR กัน

หลักการทำงาน

CCR นั้นจะมีส่วนการทำงานสำคัญๆ คือ ส่วนฟอกอากาศ, ออกซิเจนเซ็นเซอร์, มอนิเตอร์, รวมไปถึงส่วนควบคุมการเติมออกซิเจน (O2) และส่วนควบคุมก๊าซเจือจาง (Diluent) เพื่อใช้ในการปรับอัตราผสมก๊าซที่เราหายใจให้เหมาะสมขณะใช้งานตามที่เราต้องการ ซึ่งการที่ใช้ก๊าซหายใจวนกลับมาใช้ซ้ำๆย่อมทำให้ค่าออกซิเจนลดลง และเกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากขึึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อนักดำน้ำได้ จึงใช้สารดูดซับ (absorbent) CO2 ออกจากส่วนผสมของก๊าซ และเติม O2 เข้าไปในส่วนผสมก๊าซก่อนนำกลับไปหายใจอีกครั้ง จึงทำให้การดำน้ำด้วย CCR นั้นสามารถใช้ก๊าซได้อย่างคุ้มค่า และทำให้อยู่ใต้น้ำได้นานมากขึ้น เนื่องจากข้อจำกัดของอากาศที่นำไปนั้นถูกทำให้หายไปด้วยการใช้ CCR วนอากาศมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งระดับออกซิเจนใน Loop หรือท่อวนก๊าซที่เราหายใจอยู่นั้น จะถูกตรวจสอบโดย Oxygen Sensors จำนวน 2-5 ตัว (แล้วแต่ยี่ห้อ CCR) และจะส่งข้อมูลมาที่มอนิเตอร์ให้นักดำน้ำได้ทราบและตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับอย่างเหมาะสม เช่นการเติมออกซิเจนเพิ่ม หรือการใช้ Diluent เพื่อปรับค่าออกซิเจนให้เหมาะสม

CCR ประเภทต่างๆ

CCR แยกได้ตามหลักการใช้งาน และตำแหน่งติดตั้งของชุด CCR ได้ต่อไปนี้

mCCR, eCCR, and hCCR

mCCR: Manual CCR คือ Diver Controlled CCR ที่ใช้นักดำน้ำเป็นผู้ควบคุมปริมาณออกซิเจนใน Loop โดยการเติมออกซิเจนด้วยการใช้ Mass Flow Orifice และทำงานร่วมกันกับตัวเติมก๊าซ MAV หรือ ADV

eCCR: Electronic CCR คือ CCR ที่มีอุปกรณ์โซลินอยด์ไฟฟ้าเข้ามาควบคุมการทำงานของการเติมออกซิเจนเข้า Loop ซึ่งเป็นการลดภาระการทำงานของนักดำน้ำในการหมั่นดูระดับ Oxygen ใน Loop และจะเติมออกซิเจนให้ถึงระดับที่กำหนดโดยอัตโนมัติ โดยที่ยังมี MAV หรือ ADV มาทำงานร่วมกันด้วย

hCCR: Hybrid CCR คือ CCR ที่นำ Mass Flow Orifice และ Electronic Solenoid เข้าด้วยกัน และใช้ประโยชน์จากข้อดีของทั้งสองระบบมาใช้

RESA: The Rebreather Education and Safety Association

RESA นั้นเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมกลุ่มของผู้ผลิต Rebreather เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเรียนการสอน Rebreather ยี่ห้อต่างๆ ให้เท่าเทียมกันเป็นมาตรฐาน โดยสามารถหาอ่านได้เพิ่มเติมที่เวปไซต์ RESA ว่าการฝึกระดับต่างๆ มาตรฐานของระดับนั้นๆ (MOD1, MOD2, etc) นั้นมีอย่างไรบ้าง (https://www.rebreather.org/wp-content/uploads/2018/12/RESA-_V2.0.pdf)

ข้อดี

  1. ลดปริมาณการใช้ถังก๊าซที่ใช้หายใจ เมื่อเทียบกับการดำน้ำแบบ OC ในการดำน้ำที่มีการวางแผนเรื่องระยะเวลาดำน้ำที่ใกล้เคียงกัน

  2. การใช้ CCR จะทำให้นักดำน้ำอยู่ใต้น้ำได้นานมากขึ้นเนื่องจากข้อกำหนดเรื่องปริมาณก๊าซหายใจในถังดำน้ำจะหมดไป ในระบบ OC การหายใจครั้งหนึ่งมนุษย์จะนำออกซิเจนไปใช้น้อยกว่า 4% จากปริมาตรก๊าซที่หายใจทั้งหมด และก๊าซหายใจที่เหลือจะถูกหายใจออกไปและไม่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ และยิ่งดำน้ำลึกมาก ก็จะใช้ก๊าซเหล่านี้สิ้นเปลืองมาก แต่ CCR จะทำให้ใช้ก๊าซได้อย่างคุ้มค่า เพราะเรามีการนำก๊าซหายใจนั้นกลับมาวนซ้ำๆ ซึ่งในหนึ่งไดฟ์สามารถดำน้ำได้นานถึง 2-4 ชั่วโมง แล้วแต่ขนาดบรรจุของสารดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์

  3. การใช้ CCR จะมีการจ่ายออกซิเจน หรือการใช้ Diluent นั้นในประมาณที่น้อยมาก จึงทำให้การทำงานนั้นเงียบมาก และมีโอกาสในการเข้าถึงสัตว์น้ำได้มากขึ้นเพราะสัตว์น้ำจะไม่ตกใจเสียงการทำงานของอุปกรณ์ดำน้ำใดๆ

  4. เพิ่มเวลา No Deco อย่างมาก เนื่องจากการดำน้ำด้วย CCR นั้นสามารถปรับส่วนผสมของออกซิเจนในระบบได้ตลอดเวลาในการดำน้ำ ทำให้การดำน้ำในความลึกใดๆอยู่ที่ optimal mix ตลอดเวลา เช่นไม่ว่าจะอยู่ความลึกไหน ค่า pO2 ก็จะอยู่ที่ค่าที่เรากำหนดไว้เสมอ ถ้ากำหนด PO2 setpoint ไว้ที่ 1.2 ดำน้ำที่ความลึก 15 เมตร ค่าออกซิเจนในระบบจะอยู่ที่ 48% หรือความลึก 40 เมตร ค่าออกซิเจนในระบบจะอยู่ที่ 24% ซึ่งสามารถปรับได้ตลอดเวลาระหว่างการดำน้ำ

  5. ลดความยุ่งยากในการจัดการถัง ในที่ทุรกันดาร เช่นระหว่างการสำรวจถ้ำ, เหมือง, หรือแหล่งดำน้ำที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกในการจัดหาถังอากาศเพื่อการดำน้ำหลายๆไดฟ์ จะทำให้ CCR มีข้อได้เปรียบในการจัดการนี้และลดปริมาณถังอากาศที่ต้องจัดการไปได้มาก

  6. การดำน้ำด้วย Heliox หรือ Trimix นั้นจะมี Helium ซึ่งเป็นส่วนประกอบของก๊าซหายใจที่มีราคาแพง และเป็นก๊าซที่มีปริมาณจำกัดบนโลก ซึ่งมีความสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์และวงการแพทย์เป็นอย่างมาก ซึ่งด้วยปริมาณที่จำกัดนี้ทำให้ He มีราคาที่แพงมาก และการดำน้ำลึกมากตั้งแต่ 50 เมตรลงไปนั้นจะต้องมีค่าใช้จ่ายกับ Helium มากมายต่อการดำน้ำหนึ่งไดฟ์ ทำให้การดำน้ำด้วย CCR ที่เอาก๊าซมาวนใช้ใหม่นั้นประหยัดค่าก๊าซนี้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญมากๆถึง 50-70% เมื่อเทียบกับ open circuit กล่าวคือ ถ้าดำน้ำ 100 เมตร 20-30 ไดฟ์ จะได้ CCR หนึ่งเครื่องแน่นอน ดังนั้น ถ้าชอบดำน้ำลึกมากๆ ดำน้ำนานๆ หรือไม่อยากซื้อ Helium ในปริมาณมาก, หรือต้องมีการจัดการถังดำน้ำหลายๆใบ การใช้ CCR จะมีความคุ้มค่ากว่าอย่างชัดเจน

  7. ในการดำน้ำแบบ Overhead Environment ในซอกหลีบหินหรือเรือจมต่างๆจะมีตะกอนจับตัวกันอยู่ทั้งบนพื้นและให้เพดาน การดำน้ำด้วย open circuit นั้นจะมีฟองก๊าซที่หายใจออกมากระทบเข้ากับฝุ่นเหล่านี้ (percolation) และทำให้การมองเห็นลดลงอย่างรวดเร็วมากๆ การใช้ CCR ที่ไม่มีฟองจะช่วยเพิ่มคามปลอดภัยโดยการลดปัญหานี้ได้ด้วย

ข้อควรพิจารณา

  1. อุปกรณ์ CCR มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองค่อนข้างมาก จึงมีการเข้าถึงได้ยากกว่า และบางที่จะไม่สามารถซื้อได้ด้วยตัวเองในกรณีที่ไม่ใช้ certified CCR diver ของ unit นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ครูผู้สอนจะเป็นผู้ขายให้กับนักเรียนตัวเองได้ด้วย และในการซ่อมบำรุง/ซ่อมแซม CCR นั้น บางยี่ห้อต้องส่งอุปกรณ์กลับไปที่ผู้ผลิตเท่านั้น จึงทำให้การซ่อมแซมนั้นมีค่าใช้จ่ายจัดส่งที่สูงมาก

  2. การใช้อุปกรณ์ CCR นั้นมีความซับซ้อนกว่า open circuit อย่างชัดเจน ทำให้การเรียนการสอนต้องใช้เวลามากกว่าในการเรียนดำน้ำ CCR เรียกได้ว่า OC เป็นระดับประถม และ CCR เป็นระดับอุดมศึกษา ที่อุปกรณ์ที่มีความซับซ้อนและต้องให้เวลาในการเตรียมความพร้อมก่อนใช้งาน และการดูแลรักษาที่มากขึ้น

  3. การดำน้ำด้วย CCR จะยังจำเป็นต้องพกถัง Open Circuit ไว้ใช้เป็นระบบสำรอง (Bail out) ในกรณีที่ CCR มีปัญหาใต้น้ำ เพราะการใช้ CCR ไม่ได้เป็นการยกเลิกการใช้ระบบ Open Circuit โดยสิ้นเชิง นักดำน้ำยังต้องมีการพกพาถังดำน้ำระบบ Open Circuit ติดตัวไปด้วยในกรณีที่ระบบ CCR มีปัญหา นักดำน้ำต้องกลับมาใช้ระบบ Open Circuit ได้ โดยถังจะพกไปมากน้อย ขึ้นอยูู่กับการวางแผนของนักดำน้ำแต่ละคน

  4. การเรียนการสอนนั้นจะแยกไปตาม unit นั้นๆ คือไม่สามารถเรียนหนักสูตรหนึ่ง แล้วจะใช้ CCR ได้ทุกยี่ห้อ เช่นถ้าเรียน CCR Deco Diver กับเครื่อง SF2 จะไม่สามารถไปใช้ PELAGIAN ได้ ต้องทำการเรียนหลักสูตร Crossover ก่อน จึงจะได้รับวุฒิบัตรในการใช้เครื่องนั้นได้

  5. ครูผู้สอนมีจำนวนจำกัด เนื่องจากมีการควบคุมตลาด Rebreather และปริมาณครูผู้สอน ทำให้การเรียนการสอนเข้าถึงได้ยากและราคาแพง เช่นหนึ่งภูมิภาค หรือหนึ่งประเทศ อาจจะมีโควต้าครูผู้สอนได้แค่ไม่กี่คนเท่านั้น

  6. อุปกรณ์สิ้นเปลืองที่ใช้ใน CCR ไม่ว่าจะเป็นสารดูดซับ CO2 ที่ต้องใช้ในการดำน้ำทุกครั้ง, ออกซิเจนเซ็นเซอร์ มีอายุการใช้งานที่สั้นและต้องได้รับการเปลี่ยนเซ็นเซอร์ตามเวลาที่กำหนด ทำให้การบำรุงรักษา CCR ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการดำน้ำแบบ Open Circuit อย่างมีนัยยะสำคัญ

  7. Buoyancy ไม่เหมือนเดิม เพราะนักดำน้ำ OC นั้นจะใช้การหายใจในการควบคุมการลอยตัว แต่ถ้าเป็น CCR แล้วนั้น การหายใจจะไม่มีผลต่อการลอยตัวใดๆ เพราะปริมาตรอากาศที่อยู่กับตัวนักดำน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปในการหายใจแต่ละครั้ง เพราะจะมีส่วนที่เรียกว่า counter lung ที่ทำหน้าที่รับอากาศที่หายใจออกมาเข้าสู่ระบบฟอกอากาศก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ ต้องใช้การปรับปริมาตรลมใน BCD เท่านั้น

  8. การดำน้ำด้วย CCR ไปยังที่ต่างๆนั้นจะมีความท้าทายในเรื่องการจัดการเป็นอย่างมาก

    1. การหา CCR friendly dive operator ที่จุดหมายปลายทางไม่ว่าจะเป็นเรือหรือร้านดำน้ำก็ตาม ซึ่งถ้ายังเป็นการเดินทางในประเทศพำนักของตนเอง จะยังสามารถขับรถไปเอง หรือใช้การจัดส่งวัสดุจำเป็นที่ใช้ในราคาไม่สูงมากได้ แต่ถ้าเป็นการเดินทางด้วยเครื่องบิน ก็น่าจะต้องมีการซื้อ extra luggage เพิ่มไว้เลย

    2. การเดินทางด้วยเครื่องบิน ถังก๊าซส่วนตัวจะต้องเป็นถังเปล่าที่ไม่มีแรงดัน แล้วค่อยไปหา dive operator / filling station ที่เติม Oxygen และ Diluent กลับไปก่อนใช้งาน

    3. วัสดุดูดซับ CO2 นั้นสามารถหาซื้อได้หรือไม่? จริงอยู่ที่โรงพยาบาลแทบทุกที่จะมีสารดูดซับ CO2 เพราะส่วนใหญ่จะถูกใช้โดยวิสัญญีแพทย์ แต่สารดูดซับ CO2 ของโรงพยาบาล และ CCR นั้นมีขนาดไม่เท่ากันและไม่สามารถใช้แทนกันได้ ต้องเป็นขนาดคละที่ผลิตมาเพื่อใช้ CCR โดยเฉพาะ (เช่น Sofnolime 797) ซึ่งจะทำให้การหาซื้อทำได้ยากกว่า

  9. CCR สามารถคร่าชีวิตคุณได้โดยไม่จำเป็นต้องมีสัญญาณเตือนใดๆ ซึ่งมีข่าวนี้แล้วในประเทศไทยกับนักดำน้ำชาวอังกฤษในปี 2019 และนักดำน้ำชาวไทยในปี 2021 สิ่งนี้บ่งบอกได้ว่าอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เนื่องจากอุปกรณ์นั้นมีความซับซ้อนซึ่งนำไปยังความเสี่ยงที่มากขึ้น ซึ่ง CCR นั้นสามารถมอบความตายให้กับคุณได้หลากหลายวิธี ซึ่งวิธีแปลกใหม่และไม่เกิดขึ้นเลยหากคุณดำน้ำด้วยระบบ OC เปรียบเทียบง่ายๆได้ว่าคุณเดินทางด้วยการขับรถยนต์ กับเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ โดยเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์นั้นมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุมากกว่ารถยนต์นั่นเอง ตามหลักของ Murphy's law ที่กล่าวไว้ว่า What can go wrong, will go wrong หมายความได้ว่า ต่อให้นักดำน้ำท่านนั้นเป็นเจ้าของแบรนด์ CCR เองก็ตาม ต่อให้นักดำน้ำนั้นระมัดระวังขนาดไหน หรือ CCR เครื่องนั้นเป็นเครื่องใหม่แกะกล่อง อุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ ความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยนั้นอาจไม่ได้รับการให้อภัยจาก CCR ใต้น้ำและคร่าชีวิตคุณได้ ถ้าคุณเข้าใจว่าความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยไม่สามารถใช้คำว่า "อาจจะเกิดอุบัติเหตุ" แต่ต้องใช้คำว่า "จะเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ กี่โมง?" และต้องยอมรับมันได้ถ้าคุณอยู่กับมัน

CCR เหมาะกับคุณไหม?

ถ้า CCR ไม่ใช่สำหรับทุกคน แล้ว CCR จะเหมาะสมกับใคร? นักดำน้ำ OC ทุกคนอาจจะไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้งาน CCR แต่เงื่อนไขบางอย่างก็อาจทำให้ CCR เหมาะสมกับคุณมากกว่า

  1. CCR นั้นอาจถูกจัดไว้เป็นของเล่นราคาแพง และการใช้ CCR อาจไม่ได้สนุกเหมือนเหมือนกับที่คุณคิดไว้ ถ้าคุณมักจะวางแผนดำน้ำที่ระยะความลึกมากกว่า 50 เมตรอยู่บ่อยๆ, จำเป็นต้องอยู่ใต้น้ำเป็นระยะเวลานานหลายชั่วโมง, หรือคุณต้องทำงานกับสัตว์น้ำที่ตกใจกับฟองอากาศหรือเสียงดังใต้น้ำ ประโยชน์ของ CCR จะแสดงออกมาได้อย่างเต็มที่

  2. งบประมาณดำน้ำของคุณครอบคลุมการดำน้ำด้วย CCR หรือไม่ เพราะไม่ใช่แค่การเรียน หรือการซื้ออุปกรณ์ ที่เป็นกำแพงด่านแรกของค่าใช้จ่ายนานับประการแล้วนั้น ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ OC เช่น ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้น, ค่าวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆ ที่ต้องเพิ่มมา ถึงแม้บางครั้งคุณจะไม่ได้ดำน้ำด้วย CCR เลย แต่เมื่อนำมาใช้ใหม่ อาจจะต้องมีการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์บางชิ้นเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน

  3. ความรู้และประสบการณ์ของคุณเพียงพอให้ใช้ CCR หรือไม่? ซึ่งอาจมีข้อชี้วัดแตกต่างไปเช่นจำนวนไดฟ์ก่อนดำ CCR หรือความรู้ความเข้าใจในเรื่องของก๊าซที่กระทำกับร่างกายมนุษย์ในที่ลึก ซึ่งสามารถศึกษาเบื้องต้นด้วยหลักสูตร SSI Extended Range Nitrox / Extended Range ได้ที่ครูเบิ้ม Blue Culture Diving

  4. คุณมีวินัยและความระแวดระวังในการใช้ CCR หรือไม่ เพราะ CCR นั้นไม่ได้อันตรายด้วยตัวมันเอง แต่ CCR ไม่ยอมให้อภัยในความผิดพลาดอันมาจากความประมาทเลินเล่อของผู้ใช้ เช่นการดำน้ำ CCR คุณต้องใช้เวลาอย่างน้อย 15-20 นาทีในการเตรียมพร้อมก่อนลงน้ำ "ทุกครั้ง" และการล้างอุปกรณ์หลังการดำน้ำที่ต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องสะอาด รวมไปถึงการฆ่าเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมาก

CCR ในรูปแบบต่างๆซึ่งเริ่มต่างๆ

  1. การใช้อุปกรณ์ CCR นั้นมีความซับซ้อนกว่า open circuit อย่างชัดเจน ทำให้การเรียนการสอนต้องใช้เวลามากกว่าในการเรียนดำน้ำ CCR

  2. การดำน้ำด้วย CCR จะยังจำเป็นต้องพกถัง Open Circuit ไว้ใช้เป็นระบบสำรอง (Bail out) ในกรณีที่ CCR มีัญหาใต้น้ำ

  3. การใช้ CCR ไม่ได้เป็นการยกเลิกการใช้ระบบ Open Circuit โดยสิ้นเชิง นักดำน้ำยังต้องมีการพกพาถังดำน้ำระบบ Open Circuit ติดตัวไปด้วยในกรณีที่ระบบ CCR มีปัญหา นักดำน้ำต้องกลับมาใช้ระบบ Open Circuit ได้ โดยถังจะพกไปมากน้อย ขึ้นอยูู่กับการวางแผนของนักดำน้ำแต่ละคน

  4. อุปกรณ์ CCR มีราคาแพง และมีค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองค่อนข้างมาก จึงมีการเข้าถึงได้ยากกว่า และบางที่จะไม่สามารถซื้อได้ด้วยตัวเองในกรณีที่ไม่ใช้ certified CCR diver ของ unit นั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ครูผู้สอนจะเป็นผู้ขายให้กับนักเรียนตัวเองได้ด้วย

  5. การเรียนการสอนนั้นจะแยกไปตาม unit นั้นๆ คือไม่สามารถเรียนหนักสูตรหนึ่ง แล้วจะใช้ CCR ได้ทุกยี่ห้อ เช่นถ้าเรียน CCR Deco Diver กับเครื่อง SF2 จะไม่สามารถไปใช้ PELAGIAN ได้ ต้องทำการเรียนหลักสูตร Crossover ก่อน จึงจะได้รับวุฒิบัตรในการใช้เครื่องนั้นได้

  6. ครูผู้สอนมีจำนวนจำกัด เนื่องจากมีการควบคุมตลาด Rebreather และปริมาณครูผู้สอน ทำให้การเรียนการสอนเข้าถึงได้ยากและราคาแพง เช่นหนึ่งภูมิภาค หรือหนึ่งประเทศ อาจจะมีโควต้าครูผู้สอนได้แค่ไม่กี่คนเท่านั้น

  7. อุปกรณ์สิ้นเปลืองที่ใช้ใน CCR ไม่ว่าจะเป็นสารดูดซับ CO2 ที่ต้องใช้ในการดำน้ำทุกครั้ง, ออกซิเจนเซ็นเซอร์ มีอายุการใช้งานที่สั้นและต้องได้รับการเปลี่ยนเซ็นเซอร์ตามเวลาที่กำหนด ทำให้การบำรุงรักษา CCR ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการดำน้ำแบบ Open Circuit อย่างมีนัยยะสำคัญ

  8. การซ่อมแซม CCR บางยี่ห้อ ต้องส่งอุปกรณ์กลับไปที่ผู้ผลิตเท่านั้น จึงทำให้การซ่อมแซมนั้นมีค่าใช้จ่ายจัดส่งที่สูงมาก

Backmount CCR

แทนที่ถังดำน้ำที่อยู่บนหลังนักดำน้ำปกติด้วย CCR Unit ที่ครบเครื่องทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น O2, DIL, หรือที่ CO2 absorbent canister ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างรวมอยู่ที่เดียว และยังได้รับความนิยมจากนักดำน้ำ CCR ทั่วโลกอยู่ โดย CCR แทบทุกยี่ห้อจะต้องมี backmount ccr เป็นหนึ่งในรุ่นที่ขายอยู่ในตลาดเนื่องจากมีความต้องการอย่างต่อเนื่องเสมอมา

Sidemount CCR

เป็น Configuration ใหม่ ที่เกิดมาเพื่อการมุดเข้าที่แคบ Sidemount CCR เป็น CCR ที่ชิ้นส่วนต่างๆถูกเรียงใหม่ และการจัดวางใหม่เพื่อให้มีลำตัวเรียวยาวคล้ายกับถังดำน้ำแต่ยังมีความสามารถของ CCR ได้ครบถ้วน นักดำน้ำสำรวจถ้ำและเรือจมนิยมนำ sidemount ccr มาใช้ในการสำรวจที่ในพื้นที่แคบและพื้นที่ปิดอีกด้วย

Chestmount CCR

เป็น CCR ที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานสูง โดยมีน้ำหนักเบามากเมื่อเทียบกับ CCR ประเภทอื่นๆ เพราะสามารถใช้เดินทางไปต่างประเทศได้ง่าย และมักจะถูกเลือกเป็น Back up unit สำหรับคนที่ดำน้ำด้วย CCR สองตัว และด้วยค่าตัวที่ถูกกว่า configuration อื่นๆมาก จึงทำให้ Chestmount CCR ได้รับความนิยมจากนักดำน้ำอย่างแพร่หลายมากขึ้น

วัสดุสิ้นเปลือง

วัสดุสิ้นเปลืองเช่น CO2 Absorbent หรือ Sofnolime นั้นมีราคาที่ไม่ถูกมากนัก เพราะถ้าซื้อถัง 20kg จะมีราคาถังละ 7,000 - 8,000 บาท โดยการนำมาใช้นั้นเราจะใช้ครั้งละ 2-3 กิโล และ absorbent นั้นจะสามารถดูดซับก๊าซ CO2 นั้นได้ประมาณ 3-5 ชั่วโมง ก่อนจะต้องเปลี่ยนใหม่อีกครั้ง และ Oxygen Sensor สำหรับ CCR นั้น ใน 1 unit นั้นจะมี O2 Sensor อยู่ 2-5 ตัว และราคาจะอยู่ที่ 3,000-4,000 บาท/เซ็นเซอร์หนึ่งตัว และจะมีอายุการใช้งานแค่ 12 เดือนหลังเปิดใช้ แต่ไม่เกิน 18 เดือนนับจากวันที่ผลิตเพื่อให้เซ็นเซอร์มีความแม่นยำที่สุด

สรุป

CCR เป็นได้ทั้งของเล่น หรืออุปกรณ์สำหรับการสำรวจสำหรับนักดำน้ำ แต่มีค่าใช้จ่ายที่สูง และควรมีการวางแผนการซื้อ เช่นจะใช้ยี่ห้ออะไร ใครสอนได้บ้าง ต้องไปเรียนที่ไหนกับใคร ซึ่ง CCR เครื่องหนึ่งมีราคา 300,000 - 500,000 บาทต่อ unit และยังไม่รวมอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ รวมไปถึงการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆอีกค่อนข้างมาก และสำหรับคนที่สนใจเรียน CCR สามารถลองปรึกษาเราก่อนได้ เพื่อเราจะได้แนะนำไปยังครูสอน CCR ที่เหมาะสมกับคุณต่อไป


ดู 439 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

ความคิดเห็น


bottom of page