top of page
ค้นหา

Vacuum Packing สำหรับอุปกรณ์ดำน้ำ

นักดำน้ำหลายท่านมีสอบถามเข้ามาว่า ถ้าไม่ได้ดำน้ำเป็นระยะเวลาหนึ่ง เช่นมากกว่า 12 เดือนขึ้นไป สามารถเก็บรักษาอุปกรณ์ดำน้ำด้วยการจัดเก็บแบบสุญญากาศ (Vacuum Packing) ได้หรือไม่ มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร? พี่บูคิดว่ามีประโยชน์มากสำหรับนักดำน้ำที่คิดถึงเรื่องการรักษาอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งานตลอดเวลา และพยายามนำเทคโนโลยีจากอุตสาหกรรมอื่นๆเข้ามาประยุกต์ใช้กับการเก็บรักษาอุปกรณ์ดำน้ำ ดังนั้นพี่บูจะมาแยกประโยชน์และข้อพิจารณาในการจัดเก็บอุปกรณ์แบบสุญญากาศกัน

Vacuum Packing คืออะไร?

การจัดเก็บด้วยสุญญากาศ คือวิธีการจัดเก็บวัตถุในถุง และมีการนำอากาศออกจากถุง ซึ่งวัตถุประสงค์คือการนำออกซิเจนที่สัมผัสวัตถุที่ต้องการจัดเก็บนั้นให้ได้น้อยที่สุด เพื่อลดการออกซิเดชั่นของวัตถุที่ทำกับอากาศ และการลดแรงดันในถุง ทำให้ฟองอากาศในถุงสุญญากาศนั้นเล็กลง เพื่อทำให้วัถตุนั้นเกิดการลดปริมาตรลง ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่จัดเก็บได้


ข้อดีของการจัดเก็บแบบสุญญากาศมีอะไรบ้าง?

  1. ลดการเกิดเชื้อแบคทีเรีย เพราะ Aerobic Bacteria ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากอยู่ในภาวะออกซิเจน หรือเชื้อราที่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน ทำให้วัตถุอินทรีย์นั้นถูกย่อยสลายได้ช้าลง ยืดอายุได้นานขึ้น และลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากแบคทีเรีย

  2. ลดพื้นที่จัดเก็บ เนื่องจากชุดดำน้ำต่างๆเต็มไปด้วยฟองอากาศมากมาย ทำให้การลดขนาดฟองอากาศทำให้ขนาดการจัดเก็บของอุปกรณ์ดำน้ำนั้นเล็กลงและทำให้จัดเก็บได้ง่ายขึ้น


ด้วยข้อดีสองข้อนี้นั้น ทำให้การจัดเก็บแบบสุญญากาศเป็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่อาศัยสถานที่ที่มีพื้นที่จัดเก็บจำกัดมากๆ หรือมีอุปกรณ์หลายชุดที่ต้องมีการจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย


อย่างไรก็ดีการจัดเก็บด้วยสุญญากาศก็ต้องมีข้อควรระวังในการจัดเก็บ ที่นักดำน้ำจะต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน


ข้อควรพิจารณาในการเก็บอุปกรณ์แบบสุญญากาศ

  1. มีแบคทีเรียบางประเภท เรียกว่า Anaerobic Bacteria  ที่เติบโตในสภาวะไม่มีออกซิเจน ซึ่งจะสัมผัสกับมนุษย์อีกครั้งเมื่อเปิดถุงออกมา โดย anaerobic bacteria บางตัวเป็นโทษต่อมนุษย์ได้ เช่น Bacteroides, Fusobacterium, Porphyromonas, Prevotella, หรือ Clostridium เป็นต้น และการจัดเก็บของโดยไม่ทำให้อุปกรณ์แห้งสนิทและทำการฆ่าเชื้อเสียก่อนนั้นจะทำให้อุปกรณ์ดำน้ำขึ้นราได้แม้อยู่ในสภาวะออกซิเจนต่ำ

  2. การจัดเก็บสุญญกาศนั้น จะถูกแรงดันตั้งแต่ 2-3 เท่าของชั้นบรรยากาศที่ผิวน้ำทะเล ขึ้นอยู่กับแรงดูดของเครื่องดูดอากาศ หรือการตั้งค่าเครื่องแวคคั่ม ซึ่งย่อมก่อให้เกิดแรงกระทำต่อวัสดุต่างๆ เช่นแผ่นผ้าที่ทอมาจากวัสุดสังเคราะห์ไนลอน, โพลีโพรไพลีน, นีโอพรีน, หรือยางธรรมชาติเป็นต้น การจัดเก็บด้วยแรงแวคคั่มที่สูงเกินไปนั้น อาจทำให้เวทสูทเป็นรอยยับที่เกิดจากการบีบตัวของถุงเก็บ, ผ้าไนล่อนของ BCD เกิดการ stress ของสิ่งทอ ทำให้มีรอยพับ หรือรอยหดตัวที่ไม่อาจคืนตัวได้, ถุงลม BCD ด้านในมีรอยรั่วจากรอยหักพับที่มีมุมแหลมคม, โครงสร้างสายยางจากการจัดเก็บที่มีการกดทับหรือหักงอที่มากเกินไปจะทำให้โครงสร้างสายยางเสียทรง และไม่คืนตัวได้

  3. ค่าใช้จ่ายสิ้นเปลืองอื่นๆ เช่น ถุงและเครื่องซีลถุงสุญญากาศต่างๆ


ความเห็นส่วนตัว

การจัดเก็บอุปกรณ์ดำน้ำด้วยสุญญกาศเป็นไอเดียที่ดี แต่อาจไม่สามารถใช้กับอุปกรณ์ทุกชนิดได้ ไม่ว่าจะเป็นเวทสูท, บีซีดี, หน้ากาก, หรือเร็กกูเลเตอร์ ซึ่งมีจุดผิดพลาดได้มาก เช่น น้ำเข้าเร็กกูเลเตอร์ระหว่างการใช้งาน หรือระหว่างการล้าง ซึ่งน้ำที่ขังอยู่นั้นใช้เวลานานในการแห้ง หรืออาจจะไม่แห้งเลยในบางกรณี, น้ำที่คงค้างอยู่ใน Bladder ที่จะค้างและชื้นเปียกอยู่ตลอดไปตราบใดที่ไม่เปิดวาล์วและตากให้น้ำระเหยออกไปให้หมด, รวมไปถึงโครงสร้างยาง หรือผ้าต่างๆ ที่อาจเสียหายได้มากกว่าการจัดเก็บแบบปกติ หากการเตรียมการก่อนจัดเก็บไม่ทำได้ละเอียดมากพอ อาจทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดเก็บแบบสุญญากาศด้วยซ้ำ ซึ่งอุปกรณ์ดำน้ำก็บางอย่างก็มีควรที่จะต้องได้รับการบำรุงรักษาทุกๆปีอยู่แล้ว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการทำงานหรือวัสดุยังอยู่ในสภาพปกติพร้อมใช้งานและลดความเสี่ยงในการถูกกัดกร่อนภายในจากน้ำทะเลกรณีน้ำเข้าเร็กกูเลเตอร์ ซึ่งสำหรับพี่บูที่ดำน้ำบ่อยมากๆนั้น หรือในช่วงที่มีการเว้นการดำน้ำเป็นเดือนๆนั้นก็จะจัดเก็บในลักษณะปกติ และเซอร์วิสเมื่อครบ 1 ปี หรือรู้สึกว่ามีคราบสกปรกเกิดขึ้น


ถ้าหากว่ามีการดำน้ำปีละ 1 - 2 ทริป ก็แนะนำให้เก็บไว้ปกติในกล่องที่อากาศถ่ายเทได้ก็เพียงพอแล้ว แต่หากมีเหตุให้ไม่สามารถดำน้ำได้อย่างแน่นอนภายใน 2-3 ปี ก็แนะนำให้เก็บ BCD/Wetsuit ใส่ถุงให้เรียบร้อยหลังจากตากให้แห้งแล้ว ส่วน Regulator ให้นำไปล้างก่อนการเก็บระยะยาว เพื่อป้องกันการกัดกร่อนจากน้ำทะเลจากภายในที่เรามองไม่เห็นอีกด้วย และนำมาตรวจสภาพก่อนนำไปใช้ดำน้ำอีกครั้ง (ซึ่งกับพี่บูนั้นจะตรวจสภาพให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย)


โดยพี่บูจะใช้เทคนิคนี้ https://www.blueculturediving.com/post/dive-gear-post-dive-care กับอุปกรณ์ดำน้ำของตนเอง เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และจัดเก็บไว้ในกล่องที่ไม่มีซีลยางมิดชิด เพื่อให้มีการถ่ายเทของอากาศและลดโอกาสการเกิดเชื้อรากับอุปกรณ์ดำน้ำ

ดู 14 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page