ทุกครั้งที่คุณหยิบเร็กกูเลเตอร์มาใช้ หลายๆรุ่นจะมี pre-dive switch ให้เห็นอยู่ที่ด้านข้างบอดี้ของ second stage มีสัญลักษณ์บวกลบ (+/-), min/max, หรือ dive/pre-dive ฯลฯ ที่ปรับได้ด้วยตัวเอง
เรื่องนี้แม้ไม่อยู่ในบทเรียน แต่เรามักเจอมันในคู่มือการใช้งานของอุปกรณ์เหล่านี้เสมอ แต่แฝงตัวอยู่ในชื่อที่ต่างกันออกไป เช่น Pre-Dive Switch, Integrated Venturi System (IVS), หรือ Venturi Initiated Vacuum Assist (VIVA) ฯลฯ เจ้าระบบพวกนี้ใช้งานเมื่อไหร่ ทำงานอย่างไร และมีข้อควรระวังอย่างไร เดี๋ยวเราจะได้เข้าใจกันมากขึ้น
เมื่อเราหายใจเข้า แผ่นไดอะแฟรมจะขยับเข้าหาตัวนักดำน้ำ และสั่งให้เร็กกูเลเตอร์จ่ายอากาศ เมื่ออากาศเริ่มไหลเข้าสู่ร่างกายนักดำน้ำ อากาศมวลเดียวกันนี้จะสร้างแรงดูดที่แผ่นไดอะแฟรม ทำให้อากาศจ่ายให้กับนักดำน้ำมากขึ้น ซึ่งเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Venturi Effect
Venturi Effect จะมีประโยชน์ต่อนักดำน้ำมาก เพราะทำให้อากาศไหลเข้าสู่นักดำน้ำเร็วขึ้น ลดพลังงานที่ใช้ในการดูดอากาศที่จ่ายออกมาจากเร็กกูเลเตอร์ได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเจ้า Venturi Effect นี้แหละ เป็นตัวการทำมักจะทำให้ Regulator ของเรา Free Flow เมื่อมันไม่ได้อยู่ในปาก
แบรนด์อุปกรณ์ดำน้ำหลายๆแบรนด์จึงออกแบบระบบที่ควบคุมลดการแปรปรวนของการไหลของอากาศ ให้ไหลลื่น รวดเร็วมากขึ้น หรือ ลดการไหลของอากาศ ทำให้ Free Flow ยากขึ้น ป้องกันการสูญเสียอากาศโดยไม่จำเป็น จึงเป็นที่มาของ Venturi Control Switch หรือ pre-dive switch เพื่อต้องการที่จะใช้ venturi effect อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ดังนั้น เราควรเข้าใจการใช้งานของ pre-dive switch ที่ถูกต้องด้วย โดยง่ายที่สุดคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ไม่ได้คาบเร็กกูเลเตอร์ไว้ในปาก pre-dive switch ควรอยู่ที่ Off, Min, หรือ (-) เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้ second stage free flow และเมื่อไหร่ที่เราหายใจจากเร็กกูเลเตอร์ใต้น้ำ pre-dive switch ควรอยู่ที่ On, Max, หรือ (+) เพื่อให้การจ่ายอากาศสะดวกสบายที่สุด
เปิด/ปิด Pre-dive เพื่อควบคุมการไหลของอากาศ
By Pbsouthwood - Own work, CC BY-SA 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=34168729
ไม่ใช่เร็กกูเลเตอร์ทุกรุ่น ทุกยี่ห้อ จะมี pre-dive switch มาให้ แต่ไม่ได้แปลว่าเร็กกูเลเตอร์รุ่นนั้นไม่ดี แต่มันอาจจะถูกออกแบบให้มีระดับ Venturi Effect ที่เหมาะสมแล้ว และยกเลิกระบบ pre-dive switch เพื่อความง่ายในการทำงานของผู้ใช้งานนั่นเอง
Comments