top of page
ค้นหา

เลือกฟินดำน้ำ Scuba Diving ให้เหมาะกับการใช้งาน

นักดำน้ำหลายท่านอาจรู้สึกว่าการเลือกฟินหนึ่งคู่ให้เข้ากับเท้าเราได้นั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนหลายคู่ ต้องลองด้วยตัวเอง แล้วค่อยตัดสินใจเลือกคู่ที่เหมาะกับการใช้งาน พี่บูจึงอยากแนะแนวทางการเลือกฟินให้เหมาะกับการใช้งานของนักดำน้ำที่มีโจทย์ที่หลายหลาย และมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน

  • ฟินสำหรับ Snorkeling, Skindiving ไม่จำเป็นต้องใช้ฟินราคาแพง ฟินใบเล็กๆก็ให้แรงเพียงพอต่อการเคลื่อนที่บนผิวน้ำแล้ว

  • ฟินสำหรับ Freediving ต้องเป็นใบยาว วัสดุทำจากพลาสติก, ไฟเบอร์, หรือคาร์บอน เพื่อรีดพลังงานออกมาให้ได้มากที่สุดในการออกแรงแต่ละครั้ง

  • ฟินสำหรับ Scuba Diving จะมีใบฟินไม่ยาวมาก ทำมาจาก พลาสติก, ยาง, โพลีเมอร์, หรือวัสดุ composite อื่นๆเพื่อความแข็งแรง ใบฟินไม่ควรจะนิ่มเกินไป เนื่องจากอุปกรณ์ดำน้ำต่างๆมีน้ำหนัก และต้านน้ำ จึงต้องเลือกให้เหมาะกับการใช้งาน


สำหรับนักดำน้ำท่านใดที่สนใจฟิน หรืออยากทราบราคาปัจจุบัน ให้ Blue Culture Diving บริการคุณได้ โดยติดต่อที่ 0615264978 หรือ line: @blueculturediving


โดยปัจจัยต่างๆที่จะที่ต้องคำนึงในการเลือกฟินซักคู่มีดังนี้

ประเภทของ Foot Pocket ของฟินดำน้ำ scuba diving

หลักๆจะแยกเป็น Open Heel Fins ที่เป็นลักษณะเป็นสายรัดส้นเท้า ที่มีทั้งแบบใส่รองเท้าบู๊ต หรือไม่ใส่รองเท้าบู๊ตก็ได้ และ Full Foot Fins ที่สามารถสวมเหมือนรองเท้าปกติทั่วไปได้เลย ซึ่งก็จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันออกไป

  1. Full Foot Fins

    1. ข้อดี

      1. น้ำหนักเบา เนื่องจากฟิน Full foot ไม่จำเป็นต้องมีโครงสร้างที่แข็งแรงเทียบเท่า open heel เพราะออกแบบมาให้สวมใส่ได้พอดีเท้าแล้ว ทำให้เรื่องน้ำหนักเดินทางลดลงอย่างชัดเจน เฉลี่ย 0.5 - 2 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับฟินแบบ Open Heel ที่มักจะมีน้ำหนักมากกว่า

      2. การส่งแรงจากเท้าสู่ฟิน จะทำได้ดีมาก ทำให้ใช้แรงได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

      3. การจัดเก็บกระเป๋าง่ายกว่า เบากว่า และอุปกรณ์น้อยกว่า เพราะไม่ต้องใช้รองเท้าบู๊ต

      4. โดยรวมราคาถูกกว่า เพราะไม่ต้องซื้อรองเท้าบู๊ตเพิ่ม

    2. ข้อเสีย

      1. ฟิน Full foot 1 ขนาดจะคร่อมไซส์ 1-2 ไซส์ (เช่น 38-39, 40-41) ทำให้นักดำน้ำที่เบอร์รองเท้าเล็กเช่น เบอร์ 40 ที่ต้องใช้ฟินเบอร์ (40-41) อาจจะต้องใส่ถุงเท้าหนาๆ เพื่อป้องกันฟินกัดเท้าได้ และทรงเท้ามนุษย์มีสรีระแตกต่างกัน อาจจะไม่เข้ากับ Foot Pocket ของแต่ละฟินแต่ละยี่ห้อเหมือนเช่นกัน บางครั้งการใส่ฟินจึงต้องไปเลือกด้วยตนเองก่อน

      2. การให้เพื่อนยืมฟินที่ขนาดใกล้เคียงกัน มีโอกาสถูกเท้าเพื่อนระเบิดไซส์ ทำให้กลับมา Foot Pocket มีขนาดไม่เท่าเดิม อาจจะหลวมกว่าขนาดเท้าปกติได้

      3. อายุการใช้งานของ Full Foot Pocket มีอายุการใช้งานสั้นกว่า Open Heel เพราะเมื่อ Foot Pocket ฉีกขาดแล้ว ต้องซื้อฟินคู่ใหม่เท่านั้น

      4. ฟิน Full Foot นั้นใช้เท้าเปล่า หรือเท้า+ถุงเท้าในการสวมใส่ฟิน ทำให้เท้าเปล่าไม่มีการป้องกันถ้าหากต้องเดินลงน้ำจากชายฝั่ง ที่มีหิน หรือเปลือกหอยที่บาดเท้าได้ หรือในแหล่งน้ำที่มีอุณหภูมิหนาวเย็น ก็จะไม่มีการป้องกันความหนาวเย็นจากเท้าได้ ซึ่งฟิน Full foot แทบจะเป็นฟินที่ใช้สำหรับแหล่งน้ำที่ไม่หนาวเย็นได้เท่านั้น เพราะถ้าหากใช้ Drysuit แล้ว ก็จะบังคับให้ใช้ฟิน Open Heel ไปโดยปริยาย

  2. Open Heel Fins

    1. ข้อดี

      1. ให้การป้องกันเท้านักดำน้ำจากสภาพแวดล้อมด้านนอกดีกว่า เพราะมีรองเท้าบู๊ต ที่ป้องกันการบาดเจ็บจากชายฝั่ง และความหนาวเย็นได้

      2. ฟิน Open Heel 1 คู่ จะให้คร่อมไซส์ได้ตั้งแต่ 2-4 ไซส์ (36-40, 42-46) เป็นต้น แต่เพราะนักด้ำใส่รองเท้าบู๊ตขนาดของตนเองแล้ว สามารถปรับสายรัดส้นให้กระชับเท้าได้พอดีได้

      3. ในฟิน Open Heel ที่มี foot pocket ที่ดี (เช่นฟิน Karasu Kira หรือ Mares Avanti Quattro) สามารถเข้ากับเท้าได้หลายรูปแบบมาก แทบไม่ต้องไปลองเลย มักจะพอดีและง่ายต่อการเลือกซื้อ

      4. ฟิน Open Heel มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน คงทน หากสายรัดส้นเสียหายสามารถหาอะไหล่เปลี่ยนได้

      5. Barefoot Open Heel Fins ที่สามารถใส่เท้าเปล่าได้สามารถคร่อมไซส์ได้มาก ทำให้เป็นที่นิยมของร้านดำน้ำเพราะลดจำนวนฟินที่ต้องเก็บในร้านได้มาก

    2. ข้อเสีย

      1. ตัวฟินมีราคาอาจจะใกล้เคียงกับฟิน Full Foot ทั่วไป หรือแพงกว่านั้น โดยสนนราคาอยู่ประมาณ 2,500 - 12,500 บาท แล้วแต่ยี่ห้อหรือรุ่นของ ถึงแม้ฟิน Open Heel บางรุ่นจะไม่ใช้รองเท้าบู๊ตแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จะต้องใช้คู่กับรองเท้าบู๊ต ทำให้ต้องมีการลงทุนส่วนรองเท้าเพิ่มเติม ประมาณ 1,100 บาท - 6,500 บาท แล้วแต่แฟชั่นและตัวเลขในบัญชีธนาคารจะอำนวย

      2. ฟิน Open Heel จำเป็นต้องทำโครงสร้างให้แข็งแรง จึงมักจะมีน้ำหนักมากกว่า full foot fins บางรุ่นอาจจะมากถึงข้างละ 1.5 - 2 กิโลกรัม ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินจะต้องคำนึงถึงน้ำหนักกระเป๋าไว้ด้วย

      3. การออกแรงแต่ละครั้งจะมีการสูญเสียพลังงานจากเท้าสู่ฟินที่มากกว่า เนื่องจากมีการออกแบบของฟินอาจทำให้มีการสูญเสียพลังงานตามสายรัดส้นเท้า ทำให้การใช้ฟิน Open Heel ต้องออกแรงมากขึ้นในการตีฟินแต่ละครั้ง เพื่อให้ฟินสามารถลากน้ำได้ดีในแต่ละครั้ง ฟิน Open Heel จึงมักจะมีใบฟินที่แข็งกว่า full foot เพื่อให้ฟินลากน้ำได้ดีมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวโลกใต้ทะเลตามจุดต่างๆบนโลกใบนี้ย่อมมีอุณหภูมิน้ำ สภาพชายฝั่งที่แตกต่างออกไป จึงทำให้นักดำน้ำที่ชอบท่องเที่ยวส่วนใหญ่ จึกมักจะหาซื้อฟิน Open Heel ใช้เป็นของส่วนตัวมากกว่า เนื่องจากใช้ได้ทุกสถานการณ์


ใบฟินแข็ง อ่อน สั้น ยาวมีผลอย่างไร?

สรุปง่ายๆคือ ฟินอ่อนตีขาได้เร็ว ฟินแข็งดันน้ำได้แรง ชอบตีฟลัตเตอร์ ควรใช้ใบฟินที่ให้ตัวได้เยอะๆ ถ้าชอบตีกบ ต้องใช้ฟินที่มีความแข็งหน่อย เพราะเทคนิกการเตะฟินนั้นต่างกัน


ใบฟินที่แข็ง และอ่อน มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างชัดเจนคือเรื่องของแรงที่ต้องใช้ในการเตะฟิน ฟินที่มีใบอ่อน จะช่วยให้นักดำน้ำที่มีแรงน้อยตีขาได้ง่าย ฟินกินน้ำน้อย โอกาสเป็นตะคริวก็จะลดลง แต่ข้อเสียก็คือเนื่องจากฟินที่มีใบอ่อน จะกินน้ำได้น้อย ทำให้ต้องเตะขาเพื่อเคลื่อนที่มากขึ้น หรือทวนกระแสน้ำลำบาก ซึ่งผู้ผลิตฟินที่ใบฟินอ่อน ส่วนใหญ่มักจะพกนวัตกรรมการออกแบบเล็กน้อย เพื่อให้ช่วยกินน้ำได้มากขึ้น เพื่อให้เกิน Spoon Effect, Water Channeling หรือลักษณะฟินที่บริเวณกลางใบฟินจะนิ่มกว่าสันฟิน เพื่อให้ฟินสามารถช้อนน้ำได้มากขึ้นหรือมีลักษณะเหมือนร่องเพื่อให้รีดน้ำได้เร็วหรือมากขึ้น หรือ ออกแบบให้ใบฟินยาวอีกซักนิด เพื่อเพิ่มพื้นที่ดันน้ำ (Thrust area) ให้นักดำน้ำเคลื่อนไหวได้ไกลมากขึ้น


ส่วนฟินใบแข็งนั้น ใบฟินต้านน้ำได้ดี ดันน้ำได้เยอะ ก็เลยทำให้นักด้ำเคลื่อนที่ผ่านน้ำได้ดี ทวนกระแสน้ำได้ดีกว่าใบฟินที่อ่อน ใบฟินที่แข็งจะมีโครงสร้างที่ทำให้ใบฟินบิดตัวได้น้อย ทำให้ควบคุมฟินได้ดี สามารถตีกบ หรือตีถอยหลังได้ง่าย (แต่ต้องฝึกท่าตีด้วย) และใบฟินที่แข็ง ก็มักจะออกแบบให้ใบฟินไม่ยาวมาก สามารถเข้าที่แคบได้ง่าย อย่างไรก็ดีข้อดีก็ต้องแลกมาด้วยกับกำลังขาที่ต้องมีเพียงพอให้ใช้ในการออกแรงแต่ละครั้ง เพราะถ้ากล้ามเนื้อขาน้อย ก็จะเมื่อยล้าเร็ว โอกาสเป็นตะคริวที่น่องก็จะเพิ่มขึ้นตามมาอีกด้วย ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ออกมาก็จะเห็นได้ว่า ถ้าดันน้ำได้เยอะ ก็ไปได้ไกล ถ้าดันน้ำได้เร็วก็จะตอบสนองต่อการเคลื่อนที่ได้ดี ฟินแข็ง แต่ใบสั้น จะ responsive สูงและมีแรงลากที่ดี ในขณะเดียวกัน ฟินยาว แต่ใบอ่อนก็จะมีการตอบสนองเมื่อตีขาช้ากว่า (ต้องรอให้ฟินบิดตัวและส่งแรง) แต่ก็จะดันน้ำได้เยอะ ก็จะได้ความเร็วที่ดีกว่าฟินใบแข็งๆ เพราะนักดำน้ำสามารถตีฟินถี่ๆ กับใบฟินอ่อนๆยาวๆ ได้ดีกว่าใบฟินแข็งๆสั้นๆ


การออกแบบฟินจากแบรนด์ต่างๆนั้น จะมีโจทย์อยู่ในใจว่าต้องการให้ฟินนี้รองรับกลุ่มลูกค้า segment ไหน เช่นนักดำน้ำที่ชอบเดินทาง, นักดำน้ำที่ใช้ดรายสูท, นักดำน้ำที่ดำน้ำแบบนันทนาการ หรือเทคนิคัลไดฟ์วิ่ง, นักดำน้ำฟรีไดฟ์วิ่ง, หรือ นักดำน้ำที่ต้องการสินค้าราคาประหยัด ฯลฯ แต่ไม่ค่อยเกี่ยวกับการใช้งานตีขาว่าต้องตีท่าใดเป็นเฉพาะเจาะจง แต่สามารถสังเกตุได้ง่ายๆเช่น ฟินที่ยาวจะตี flutter (สลับขา) ได้ดี สร้างความเร็วที่สูงได้อย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่นฟินฟรีไดฟ์วิ่ง ที่มีลักษะยาวเพื่อให้ใบฟินมีการlดันน้ำได้มาก โดยใช้แรงจากขาและแรงงัด (leverage) ที่มากขึ้นจากการสะบัด (Whip) ความยาวของใบฟิน แต่การใช้ frog kicks นั้นจะไม่ได้ระยะทางตีขาได้มากเท่ากับ flutter kicks ทำให้ไม่สามารถใช้ความได้เปรียบของใบฟินที่ยาวได้ดี แต่ฟินที่เหมาะใช้ตีกบ จะมีใบฟินไม่ยาวมากและมีความแข็งมากกว่า เพราะใช้ความได้เปรียบของกล้ามเนื้อที่ใช้ตีกบที่ใช้แรงได้มากกว่า (เหมือนกับการ "เตะ" น้ำ กับ "ถีบ" น้ำ) ทำให้ดันน้ำได้มาก และสามารถใช้การร่อน (glide) ในน้ำเพื่อการพักกล้ามเนื้อในการใช้ฟินในแต่ละครั้ง


แต่ถึงอย่างไรก็ต้องขึ้นอยู่กับแรงขาของนักดำน้ำด้วย ขาแข็งแรงกว่าฟิน ใบฟินก็จะพับไม่กินน้ำ แต่ถ้าฟินแข็งแรงกว่าขา ตะคริวก็จะกินน่อง ไม่ได้ขยับไปไหน เป็นต้น


Split Fins vs Paddle Fins

Split Fins หรือฟินปลายแฉก ที่มีการทำตลาดกันมาอย่างต่อเนื่องนั้น มีจุดเด่นคือรอยแยกตรงกลางใบฟินที่ทำให้การเตะขาทำได้ง่ายมาก เพราะร่องแยกจะยอมให้น้ำผ่านได้ง่าย ทำให้ใบฟินไม่กินน้ำเท่ากับ paddle fins แต่ก็กินแรงน้อยกว่า แต่ต้องอาศัยการตีขาช่วงสั้นๆ ซ้ำๆ เร็วๆ ทำให้ปลายฟินที่แยกออกมานั้นสะบัดน้ำแล้วจะทำให้การเคลื่อนที่ไปได้เร็วขึ้น ก็สามารถสร้างความเร็วได้ และลดความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อขาได้


อย่างไรก็ดี Split Fins มักจะเป็นฟินที่ถูกนักดำน้ำด้อยค่าอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นฟินที่คนมักจะมองว่าสู้กระแสน้ำไม่ดี ซึ่งแท้จริงแล้ว Split Fins นั้นจะทำงานได้ดีเมื่อนักดำน้ำใช้งานปกติ เช่น ดำน้ำปกติด้วยถัง 1 ใบ และการตี split fins ที่มีประสิทธิภาพคือตี flutter ช่วงสั้นๆ และตีขาสลับถี่ๆ แต่เมื่อต้องลากอุปกรณ์เยอะๆ เช่น ดำน้ำโดยใช้ถังอากาศตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไป, หรือมีกล้องถ่ายรูปตัวใหญ่, หรือต้องลากนักดำน้ำเมื่อเกิดกรณีต้องช่วยเหลือที่นักดำน้ำทั้งบนผิวน้ำหรือใต้น้ำ Split Fins อาจจะไม่สามารถสร้างแรงลาก (Torque) ได้ดีเท่ากับ Paddle Fins


และการตีฟินในท่าต่างๆ ที่นิยมใช้กันใน technical diving ได้ลำบาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่แคบและจุดที่ฝุ่นฟุ้งได้ง่าย เนื่องจากใบฟินที่มีคุณลักษณะที่สะบัดได้ง่าย จึงอาจทำให้การตีถอยหลัง การเลี้ยงตำแหน่งนักดำน้ำในมุมแคบ และการตีฟินเพื่อไม่ให้ฝุ่นฟุ้งนั้นทำได้ยากกว่า paddle fins เนื่องจากข้อจำกัดในสภาพแวดล้อมมีสูง และ Split Fins อาจไม่ได้ออกแบบมาให้เอื้อต่อการใช้งานที่ค่อนข้างเฉพาะทาง ดังนั้น Split Fins เหมาะกับนักดำน้ำบางประเภท เช่นนักดำน้ำที่เป็นตะคริวได้ง่าย หรือนักดำน้ำที่แรงขาไม่แข็งแรงมาก หรือนักดำน้ำที่มีข้อจำกัดเรื่องข้อเข่าหรือข้อเท้า เนื่องจากแรงต้านตอนตีฟินของ Split นั้นน้อยกว่า Paddle อย่างชัดเจน แต่ก็พอสามารถไปดำน้ำกับเพื่อนๆได้ ส่วนเรื่องการตีฟินท่าทางต่างๆ ก็สามารถทำได้ แต่จะไม่ได้ดีหรือง่ายเท่ากับ paddle fin ที่ให้การควบคุมได้ดีกว่าอย่างมีนัยยะสำคัญ


ฟินลอยน้ำ ฟินจมน้ำ ส่งผลอย่างไร?

ฟินที่ลอยหรือจมน้ำ อาจจะส่งผลต่อทริม (Trim) ได้เล็กน้อย แต่สุดท้ายด้วยการฝึกที่เหมาะสม นักดำน้ำสามารถปรับท่าดำน้ำให้อยู่ในทริมได้เสมอ นักดำน้ำที่รู้สึกขาลอย หรือขาจม อาจจะใช้ฟินที่ทดน้ำหนักให้เหมาะสมกับตนเองได้ ซึ่งทั้งนี้เป็นเรื่องของทักษะ และความชอบของแต่ละคน และฟินที่จมน้ำ ปกติมักจะมีน้ำหนักมากกว่าฟินลอยน้ำ เพราะมาจากความหนาแน่นของวัสดุที่ใช้ผลิตฟิน ซึ่งยังส่งผลกระทบต่อนักดำน้ำที่ชอบเดินทางเพราะมีเหตุด้านน้ำหนักเดินทางเข้ามาเป็นปัจจัยอีกด้วย


ฟินที่ดีสำหรับ Wetsuit นั้น ควรจะเป็นฟินที่มีการลอยตัวเป็นกลาง จม หรือ ลอย เล็กน้อย (Neutrally Buoyant - Slightly negative or positive) เช่น เมื่อเอาฟินที่จมน้ำไปแช่น้ำ ส่วนส้นยังจมน้ำ แต่ใบฟินก็ยังลอยน้ำ หรือเมื่อเอาฟินที่ลอยน้ำไปลอยน้ำ ก็ควรจะลอยน้ำแค่ปลายฟิน ไม่ควรลอยน้ำทั้งตัวช่องรองเท้าและใบฟิน เป็นต้น


ส่วนฟินที่จมน้ำมาก เช่น Scubapro Jetfin, หรือ Tecline Powerjet fins นั้น เหมาะกับผู้ที่ใช้ Drysuit เพราะต้องใช้ฟินในการบาลานซ์แรงยกที่เท้าในชุดดรายสูทนั่นเอง


วัสดุฟินกับความคงทน

ฟินมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน แค่ยาวแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับการจัดเก็บและดูแลรักษาด้วย ฟินทุกชนิดไม่ควรปล่อยให้ตากแดดจัดนานๆ เนื่องจากความร้อนจะทำให้พลาสติกนั้นอ่อนตัวลงและเสียรูปได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าวัสดุฟิน มีผลต่อน้ำหนัก และความคงทน เช่น วัสดุ Monoprene หรือ Thermoplastic Vulcanizate ก็คงมีความแข็งแรงสู้ Thermoplastic Rubber หรือ Natural Rubber แท้ๆไม่ได้ (เนื้อ TPV เป็นรอยง่ายกว่า TPR และการเปลี่ยนสีจาก UV จะมาเร็วกว่า) แต่มันจะได้เปรียบเรื่องน้ำหนัก และการให้ตัวของวัสดุที่นิ่มหรือแข็งกว่า (แล้วแต่ compound) ที่แตกต่างกันออกไป


บทส่งท้าย และการแนะนำฟินดำน้ำ scuba diving

ไม่มีฟินดำน้ำ scuba divingคู่ไหนที่เหมาะกับทุกคน แต่มันจะมีหนึ่ง หรือสองคู่ที่เหมาะกับคุณ จริงอยู่ที่เพื่อนที่มีประสบการณ์ดำน้ำมานาน หรือความคิดเห็นออนไลน์จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจอุปกรณ์ดำน้ำของเรา แต่อยากให้สำรวจตัวเองมากกว่า ลักษณะฟินแบบไหนดีกับเรา แล้วตัดสินใจเลือกด้วยตัวเองจะดีที่สุด เราอยากถ่ายทอดประสบการณ์จริงที่ใช้ฟินมาแล้วหลายโหล ทั้งยืม ทั้งซื้อ ทั้งเช่า จนได้ข้อสรุปที่เราเชื่อถือเมื่อแนะนำให้นักดำน้ำที่อยากมีฟินของตัวเองซักคู่หนึ่ง และเราจะจำแนกแยกแยะให้ชัดเจน และเหมาะกับทุกคน


ส่วนฟินที่เราแนะนำก็จะมีจะมีอยู่ไม่กี่รุ่น โดยที่ลงไว้ก็จะมีคะแนนให้ตามที่เราเทสกันมาด้วยตนเองบางส่วน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด โดยแบ่งเป็นหลักๆคือ

  • Power คือแรงผลักน้ำที่ได้จากการตีขาแต่ละครั้ง ยิ่งค่า power มาก ก็ยิ่งลากอุปกรณ์ได้มาก ทวนน้ำได้ดี แต่ก็จะกินแรงมากเช่นกัน

  • Responsiveness คือช่วงเวลาระหว่างตีฟิน กับตอนที่นักดำน้ำเคลื่อนตัวจากการตีฟิน ยิ่งคะแนนมาก แปลว่าตีปุ๊ป มาปั๊ป ปุบปับรับโชค

  • Comfort คือความสบายขณะสวมเข้า/ถอดออก/และระหว่างสวมใส่

  • Control คือความสามารถในการควบคุมใบฟิน ถ้าค่า control ดี ก็ทำให้การบังคับฟินในท่าต่างๆ และการเคลื่อนที่ในที่แคบ ทำได้ดี

  • Review ที่เป็นความเห็นของผู้ใช้งานจริงๆ

Gull Supermew

GULL SUPERMEW

POWER: 5/10

RESPONSIVENESS: 7/10 COMFORT: 10/10

CONTROL: 6/10

BUOYANCY: NEGATIVE MATERIAL: NATURAL RUBBER

Manufacture Origin: Japan

REVIEW: ฟินสีสวยยอดนิยมในหมู่คนไทยและคนญี่ปุ่น จากการผลิตจากญี่ปุ่นทำให้ผู้ใช้มั่นใจในคุณภาพของสินค้าจากโรงงาน Kinugawa แห่งนี้เป็นอย่างมาก ด้วยขนาดฟินที่ไม่ใหญจนเกินไป และเนื้อยางยืดหยุ่นได้เป็นอย่างดี ทำให้เวลาสวมใส่ฟินนี้มีความสบายเท้าเป็นอย่างมาก สามารถตีขาได้ทุกท่า ใบฟินมีความยืดหยุ่นทำให้สามารถตี Flutter Kick สลับได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ความเร็วในการว่ายน้ำทำได้ดี แต่การได้มาซึ่งความเร็วต้องรอรอบนิดนึง เพราะเป็นฟินที่เน้นตีสบายมากกว่าเน้นลากของหนักๆ ทำให้ฟินรุ่นนี้เหมาะที่จะใช้สำหรับถังดำน้ำไม่เกิน 2 ใบ เพราะใบฟินที่อ่อนจะมีข้อเสียเปรียบในเรื่องการลากของหนักที่ทำได้ลำบากกว่าใบฟินที่แข็งนั่นเอง แต่ถ้าดำน้ำท่องเที่ยวปกติ Supermew XX ก็เป็นตัวเลือกที่ใช้ได้ และสีสันสวยงามอีกด้วย

Mares Quattro

MARES AVANTI QUATTRO+

POWER: 7/10

RESPONSIVENESS: 7/10 COMFORT: 10/10

CONTROL: 7/10

BUOYANCY: SLIGHTLY NEGATIVE

MATERIAL: THERMOPLASTIC RUBBER

Manufacture Origin: Eastern Europe

REVIEW: สุดยอดฟินยอดนิยมของวงการดำน้ำ ที่มีผลงานด้วยยอดขายถล่มทลายทั่วโลก ที่บอกได้ว่าถ้าไม่รู้จะเลือกรุ่นไหน ไปรุ่นนี้ไม่มีผิดหวัง ถือว่าเป็น Industry Standard เลยก็ว่าได้ ถ้าฟินรุ่นไหนห่วยกว่าเจ้ารุ่นนี้ คือโยนทิ้งไปได้เลย จะเท้าแรงมาก เท้าแรงน้อย ใบฟินที่มีลักษณะยาว จะช่วยรีดน้ำออกไปได้ ทำให้ช่วยผลักน้ำไปได้อย่างดี ฟิลลิ่งในการตีจะนุ่ม ถึงแม้จะไม่กินน้ำเก่งเท่า Avanti Quattro รุ่นเก่าที่ใบฟินแข็งกว่า แต่เจ้าฟินรุ่นนี้ก็ตอบโจทย์ได้ทุกรูปแบบ เนื้อวัสดุถ้าไม่เอาไปโดนแดดก็มีความคงทนสูงมาก การตีขาทั้ง Flutter และ Frog Kick นั้นทำได้ดี ใบฟินให้ตัวได้พอสมควร ทำให้ตีฟินได้ทุกท่า แต่การควบคุมจะยังไม่คมเท่าไหร่ ข้อเสียคือสายบันจี้มักจะขาดเมื่อใช้งานไปซักพักหนึ่ง (ไม่เกิน 2 ปี) ควรหา stainless steel spring strap ติดไว้แทนจะทนทานกว่ามาก


การใช้ฟินสามารถลากถังได้ 4 ใบ โดยไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องหวังความเร็วอะไร ทำให้มันทำ Technical Diving ได้ และเนื่องจากใบฟินมีความยาวพอประมาณ เป็นความยาวที่สุด ที่พอจะเอาเข้าเรือจม หรือในถ้ำได้


ฟุตพอคเก็ตครึ่งบนเป็นยางกึ่งแข็ง ครึ่งล่างเป็นวัสดุโพลิเมอร์ ให้ความสบาย สามารถใส่ได้ยาวนาน การลอยตัวของฟินคือจมนิดเดียวทำให้รู้สึกสบายใต้น้ำเวลาอยู่ในท่าดำน้ำ


ฟินรุ่นนี้ถ้าโดนแดดจัดนานๆ หรือจัดเก็บแบบมีของหนักกดทับ จะทำให้ฟินเสียรูปไปโดยถาวร ควรระวังเก็บฟินให้เรียบร้อย แต่ถ้าดูแลรักษาดีๆ สิ่งที่ต้องเปลี่ยนอาจจะเป็น fin strap ที่ต้องเปลี่ยนเมื่อวัสดุซิลิโคนหมดอายุการใช้งาน แต่ตัวใบฟินนั้นจะมีความคงทนอยู่ได้นานนับสิบปี ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและเป็นฟินเป็ดที่เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งใน best all rounder fins ที่เป็นตัวเลือกอันดับต้นๆของนักดำน้ำมาตลอดนับตั้งแต่ปี 1979 และยังคงเป็นโมเดลเดิมมาตลอดมากกว่า 20 ปี แต่ยังมีการปรับปรุงคุณภาพให้ตลอดโจทย์ความต้องการของตลาดตลอดเวลา

tecline lightjet

TECLINE LIGHTJET

POWER: 6/10

RESPONSIVENESS: 8/10 COMFORT: 10/10

CONTROL: 8/10

BUOYANCY: NEUTRAL, SLIGHTLY POSITIVE

MATERIAL: THERMOPLASTIC VULCANIZATE (TPV)

Manufacture Origin: Taiwan

REVIEW: มองหาฟินที่ใช้ได้ทุกสถานการณ์ รุ่นนี้ไม่มีผิดหวัง จะเท้าแรงมาก เท้าแรงน้อย ก็ใช้ได้ จึงเป็นที่โปรดปรานของของนักดำน้ำทุกกลุ่ม ฟิลลิ่งในการตีจะนุ่ม แต่ไม่นิ่มย้วย ยังมี Feedback ของฟินที่ดี สามารถควบคุมการเตะฟินได้ทุกท่า และมีพร้อมสายสปริงมาให้ การใช้งานทนทานยาวนาน


ฟุตพ็อคเก็ตขนาดใหญ่ รองรับได้หลายไซส์ ทำมาจากวัสดุ Thermoplastic Vulcanisate (TPV) เดียวกันทั้งชิ้น นิ่มแต่ไม่ย้วย และมีการให้ตัวได้ดี สวมใส่สบายได้ยาวนาน แต่มีปัญหาเรื่องคร่อมไซส์สำหรับคนเท้าไซส์ 40 ที่ควรลองฟินก่อน เพื่อปรับขนาดสายสปริงให้เหมาะสม การลอยตัวของฟินคือลอยนิดเดียวทำให้รู้สึกสบายมากใต้น้ำเวลาอยู่ในท่าดำน้ำ และมีน้ำหนักฟินที่เป็นมิตรกับนักเดินทาง คือตกข้างละ 0.8 - 1.2 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดไซส์ การใช้งานยังสามารถลากถังจำนวนมากได้ แต่แนะนำให้ไม่เกิน 4 ใบจะดีที่สุด เพราะใบฟินไม่ได้แข็งมาก และออกแบบมาให้ใช้ได้ง่าย และขาไม่ล้าจนเกินไปจากการใช้งานในแต่ละไดฟ์

karasu kira

KARASU KIRA

POWER: 9.5/10

RESPONSIVENESS: 9.5/10

COMFORT: 10/10

CONTROL: 10/10

BUOYANCY: NEUTRAL, SLIGHTLY POSITIVE

MATERIAL: THERMOPLASTIC RUBBER (TPR)

Manufacture Origin: China

REVIEW: หนึ่งในฟินน้องใหม่ที่ทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ จากทรงฟินแบบใหม่ที่ให้พลังในการทวนกระแสน้ำ และได้ความคล่องตัวในที่แคบด้วยรูปร่างที่เหมาะสมกับทุกการใช้งาน ได้ทั้ง Open Water และ Overhead Environment และใบฟินให้ความหนักแน่น แต่ไม่แข็งกระด้าง ให้ feedback กลับมาที่เท้าได้ดีมาก รวมกับที่เป็นฟินลอยน้ำ ทำให้นักดำน้ำที่ใช้เวทสูทนั้นมีความสบายกว่าเมื่อใช้งาน


ใบฟินเป็น TPR หรือ Themoplastic Rubber ที่ให้ความทนทานและคงรูปได้ดี แม้ใช้เป็นระยะเวลานาน ตัวฟินเป็นเนื้อเดียวกัน มีความทนทานและไม่ฉีกขาดจากการ ผสมวัสดุสองประเภทเข้าด้วยกัน


การใช้งานยังสามารถลากถังจำนวนมากได้ เพราะใบฟินผลักน้ำได้ดีมาก และออกแบบมาให้ใช้ได้ง่าย ตีด้วยเทคนิคที่หลากหลายเหมาะกับนักดำน้ำทุกคน ฟิน 3 ไซส์ XS/S, M/L และ L/XL ที่มีช่อง foot pocket ที่ใส่เป็นระยะเวลานานได้อย่างสบาย

dive rite xt

DIVE RITE XT

POWER: 10/10

RESPONSIVENESS: 10/10 COMFORT: 10/10

CONTROL: 10/10

BUOYANCY: NEUTRAL, SLIGHTLY NEGATIVE MATERIAL: MONOPRENE (THERMOPLASTIC ELASTOMER: TPE)

Manufacture Origin: China

REVIEW: ฮาร์ดคอร์ฟินสำหรับฟินทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ ต้นตำรับมาจากฟินยี่ห้อ Apollo รุ่น Prestige มาในช่วงปลายยุค 90 ก่อน Dive Rite ซื้อลิขสิทธิ์นำมาทำตลาดขายในรุ่น Dive Rite XT ที่คนนิยมจนถึงทุกวันนี้ ดีไซน์ไม่เปลี่ยนไป แต่เนื้อในไม่เหมือน prestige เลย ทำให้ Dive Rite XT นั้นเป็นขวัญใจสาย Technical Diver อย่างมาก


ใบฟินเป็นวัสุดผสม Monoprene ด้านซ้ายขวา และยางตรงกลาง ให้พลังที่มาก เพราะ Monoprene มีการออกแบบความหนาแน่นให้ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ผลักน้ำได้ดีมาก ใบฟินมีความแข็งที่ทำให้สามารถควบคุมการตีฟินได้ทุกท่า ได้อย่างรวดเร็ว


ฟุตพ็อคเก็ตขนาดไม่ใหญ่ แต่มีไซส์ให้เลือก 4 ไซส์ S-M-L-XL ให้เลือกฟิตเหมาะพอดีเท้าได้ ด้วยความสามารถของมันเอง ตัวฟินจะลากนักดำน้ำที่มีถังมากๆสู้น้ำได้สบายๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยกำลังขาที่เหมาะสมเช่นกัน การลอยตัวของฟินคือลอยค่อนไปทางจมใกล้เคียงกับ Mares Quattro ทำให้รู้สึกสบายใต้น้ำเวลาอยู่ในท่าดำน้ำ


ข้อควรระวังในการใช้งานคือ เนื้อฟินที่ผสานระหว่างยางกับ Monoprene สามารถฉีกขาดที่หลังเท้าได้ ซึ่งถ้าอยู่ในระยะรับประกันสินค้า ก็จะได้เปลี่ยนฟินคู่ใหม่ แต่ถ้าพ้นระยะประกันแล้ว ก็จะอยู่ที่จะได้ซื้อฟินคู่ใหม่เมื่อไหร่

OMS slipstream

OMS SLIPSTREAM

POWER: 8/10

RESPONSIVENESS: 7/10 COMFORT: 7/10

CONTROL: 8/10

BUOYANCY: NEUTRAL, SLIGHTLY NEGATIVE MATERIAL: MONOPRENE (THERMOPLASTIC ELASTOMER: TPE)

Manufacture Origin: Taiwan

REVIEW: ฟินยอดนิยมอีกคู่หนึ่งที่นิยมใช้กันมากในหมู่ Technical Diver ที่ผลิตมาจากวัสดุ Monoprene ทั้งชิ้นจึงการันทีความแข็งแรงทนทาน และแรงผลักที่ดี ความยืดหยุ่นที่พอดี ทำให้สามารถลากถังได้หลายไป ใบฟินสั้น ทำให้เข้าที่แคบได้ดีมาก การลอยตัวของฟินคือลอยตัวเป็นกลาง ค่อนไปทางจมนิดเดียวทำให้รู้สึกสบายใต้น้ำเวลาอยู่ในท่าดำน้ำ


ข้อเสียคือฟุตพ็อคเก็ตเมื่อใช้ไปนานๆจะเสียรูป วัสดุมีรอยพับตามหลังเท้าของผู้ใช้ ทำให้มีผลต่อการใช้งานเล็กน้อยเพราะการส่งพลังงานจากขาไปยังใบฟินมีประสิทธิภาพลดลง

Scubapro Jet

SCUBAPRO JETFINS

POWER: 10/10

RESPONSIVENESS: 10/10 COMFORT: 6/10

CONTROL: 10/10

BUOYANCY: VERY NEGATIVE MATERIAL: NATURAL VULCANIZED RUBBER

Manufacture Origin: Taiwan

REVIEW: ฟินคลาสสิคตลอดกาลของ SCUBAPRO ที่ทุกคนควรจะลอง หน้าตาแบบนี้ถือเป็นรุ่นบุกเบิก และทำให้ฟินที่มีลักษณะใบกว้าง แข็ง หนัก ถูกเรียกว่า JET FINS ตามชื่อของมัน วัสดุทำมาจากยางธรรมชาติ ที่ว่ากันว่าเป็นฟินที่ทนทาน สามารถให้เป็นมรดกกับคนรุ่นหลังเลยก็ว่าได้ นักดำน้ำสายโหดจึงมักจะเฟ้นหาไว้ติดเท้าเสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งล็อตที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกได้ว่า ใบฟินแข็งไม่เกรงใจใคร แต่ปัจจุบันย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศไต้หวัน และมีการพัฒนาส่วนผสมยางให้มีความนุ่มมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงนักดำน้ำทั่วไปได้มากขึ้น


การลอยตัวของฟินคือจม น้ำหนักฟินข้างละ 2.1-2.3 กิโลกรัมทำให้นักดำน้ำบางคนถึงขั้นลดน้ำหนักตะกั่วที่ใช้ได้เลยด้วย แต่ต้องระวังเรื่องการเดินทางด้วยเครื่องบินเพราะฟินกินน้ำหนักกระเป๋าเดินทางไปเยอะ


การตีฟินคือเต็มสิบไม่มีหัก สามารถผลักน้ำได้ดี ยิ่งถ้านักดำน้ำขาแข็งแรงมากๆ จะพบว่าฟิน SCUBAPRO JET FINS ตีหนักได้ใจ ไปไหนก็ได้ ถือเป็นอีกหนึ่ง Top Choice ของนักดำน้ำ Technical Diver เพราะว่าความสามารถให้การลากของหนัก และใบสั้นพอที่จะเข้าที่แคบได้


ข้อดีของฟินรุ่นนี้คือความทนทาน ไว้ใจได้ ไม่ฉีกขาดระหว่างทาง เหมาะกับคนเท้าเบา ที่รู้สึกว่าเบาเกินไปแล้วต้องการปรับสมดุลย์ของน้ำหนักขาให้พอดี หรือนักดำน้ำที่ใช้เวทสูทหนา หรือ ดรายสูท จะเหมาะกับรุ่นนี้มากๆ


ข้อควรระวังคือฟินรุ่นนี้อยู่ในตลาดไม่น้อยกว่า 50 ปี แต่ 50 ปีนี้ก็มีการพัฒนาฟุตพ็อคเก็ตไม่มาก จึงทำให้ปกติคนมักจะใส่ Oversize นิดๆ เพื่อความสบายของเท้าที่ดีกว่า ควรไปลองที่ร้านดำน้ำก่อนตัดสินใจเลือกไซส์ออนไลน์ แต่รุ่นนี้ไม่เคยทำให้ใครผิดหวังเลย


สนใจซื้อฟินทุกรุ่นทุกยี่ห้อ Blue Culture Diving มีบริการให้คำปรึกษาและเสนอราคาพิเศษสุดให้กับทุกคนที่ติดต่อเข้ามาเลย

ดู 3,008 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments


bottom of page