ช่วงหลายสิบปีก่อน การเรียนดำน้ำนั้นมีการเรียนการสอนที่ใช้เวลายาวนานกว่าปัจจุบันมาก ซึ่งในปัจจุบันด้วยตลาดที่มีการแข่งขันมากขึ้น การเรียนการสอนจึงถูกออกแบบให้ลดทอนเวลาลดลง เพื่อให้แข่งขันด้านต้นทุนได้ และอีกทั้งบุคคลทั่วไปจะเห็นข้อมูลด้านราคาเป็นหลัก ทำให้ความสนใจในการลงทุนในหลักสูตรเดียวกัน แต่ใช้เวลานานกว่า และราคาสูงกว่า เป็นที่ลดหายไปอย่างรวดเร็ว
การกำหนดมาตรฐานการฝึกทักษะในสระว่ายน้ำนั้น ทาง SSI กำหนดไว้ว่าควรใช้เวลา 16-32 ชั่วโมง และ total bottom time ในระหว่างการออกภาคปฏิบัติภาคทะเลนั้นต้องไม่น้อยกว่า 80 นาที (ประมาณ 20 นาที ต่อการดำน้ำหนึ่งไดฟ์) แต่ในทางปฏิบัติจริงถ้าหากมีการเรียนการสอนรวมกันทั้งหมดแค่ 3 หรือ 4 วัน นั้นถ้านักเรียนมีทักษะพื้นฐานดี ก็สามารถจบหลักสูตรได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานของหน่วยงานสถาบันรับรองการดำน้ำได้
ในส่วนของนักเรียนดำน้ำเองนั้นสามารถประเมินตนเองได้ง่ายๆ ว่าพร้อมแล้วที่จะออกปฏิบัติภาคทะเลหรือควรฝึกต่อในสระว่ายน้ำอีกซักหน่อยได้ง่ายๆ ดังนี้
ไม่กลัวเมื่อน้ำเข้าหน้ากาก และสามารถเคลียร์น้ำออกจากหน้ากากได้โดยไม่รู้สึกอึดอัด
เมื่อนำตัวเองไปอยู่ใต้น้ำแล้วนั้น จะต้องเข้าใจและยอมรับได้ว่าน้ำเข้าหน้ากากดำน้ำนั้นเป็นเรื่องปกติ และสามารถนำน้ำออกจากหน้ากากได้โดยง่าย ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องให้ต้องพะวงหรือระมัดระวังมากจนเกินไป เพราะการรัดหน้ากากแน่นจนเกินไปเพียงเพราะกลัวน้ำเข้าหน้ากากนั้น อาจทำให้เกิดการบีบหน้ากากเพราะแรงดัน และทำให้เส้นเลือดฝอยบริเวณใบหน้าและดวงตาแตงและทำให้เกิดการช้ำเลือดได้
การวิตกกังวลว่าน้ำเข้าหน้ากาก จะเป็นหนึ่งในสาเหตุของนักดำน้ำที่ตื่นกลัวหากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้หน้ากากหลุดออกจากหน้าหรือว่าน้ำเข้าหน้ากากตลอดเวลา
ความไม่รู้หรือไม่เคยได้ลองนำน้ำออกจากหน้ากากมาก่อนในสระว่ายน้ำ แต่เกิดในสถานการณ์จริงสามารถเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงได้
ตีฟินได้อย่างถูกต้อง
การเคลื่อนที่ในน้ำนั้นต้องอาศัยการตีฟินอย่างมาก การใช้ฟินที่ถูกต้องนั้นจะทำให้นักดำน้ำเคลื่อนที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้อากาศน้อย มีเวลาสำรวจโลกใต้น้ำมากขึ้น
การตีฟินที่ไม่ถูกต้อง เช่นการตีฟินด้วยท่าปั่นจักรยาน หรือการใช้มือในการช่วยเคลื่อนที่ไปข้างหน้า จะทำให้นักดำน้ำใช้อากาศเปลืองเพราะใช้แรงมากกว่าปกติ ทำให้เหนื่อยใต้น้ำ เกิดการสะสมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะ hypercapnia ได้
ลอยตัวเป็นกลางในท่าดำน้ำได้
การฝึกลอยตัวที่ดำน้ำแบบนั่งขัดสมาธิ ไม่ใช่ท่าที่เป็นธรรมชาติและใช้สามารถใช้ได้จริงในการดำน้ำ เพียงแต่เป็นท่าที่ถูกคิดค้นขึ้นมาแต่อดีตกาล เพื่อให้ล็อคแขนล็อคขานักเรียนใช้ขณะฝึกการลอยตัว
นักเรียนควรสามารถปรับการลอยตัวเป็นกลางได้โดยไม่ต้องเริ่มจากก้นสระว่ายน้ำ และไม่ใช้แขนหรือฟินในการช่วยรักษาการลอยตัว
ใช้น้ำหนักอย่างพอดีตัว
ถ้าหากคุณเป็นนักดำน้ำร่างเล็ก น้ำหนักตัวไม่มาก แต่ต้องใช้น้ำหนักตะกั่วถ่วงไว้มากมายเพื่อให้คุณนั่งนิ่งๆใต้น้ำ นั่นเป็นการจัดการน้ำหนักตะกั่วที่ผิดมาก เพราะจะทำให้เปลืองแรงอย่างมากและทำให้การลอยตัวที่ผิวน้ำและใต้น้ำเป็นเรื่องยากลำบากมากกว่าความรู้สึกสบาย
เก็บสายอุปกรณ์เรียบร้อย
การเป็นนักดำน้ำที่ดีจะต้องมีระเบียบวินัยในการเก็บของอุปกรณ์ต่างๆให้เรียบร้อย การปล่อยปะละเลยให้สายเกจ หรือสายอากาศสำรองห้อยไปมา ทำให้มีโอกาสอุปกรณ์แกว่งไปมาเสียหาย หรือไปโดนสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ หรือทำให้ติดอยู่กับร่องหินใต้ทะเล หรือไม่สามารถหาใช้งานได้อย่างรวดเร็วในยามจำเป็น เช่นเช็คอากาศ หรือการแบ่งอากาศให้บัดดี้ ย่อมก่อให้เกิดผลลบมากกว่าผลดีทั้งนั้น
การนั่ง คุกเข่า หรือยืน บนทรายหรือปะการัง
การเรียนการสอนที่เป็นไปตามลำดับที่ดี นักดำน้ำจะรู้ว่าการดำน้ำไม่มีการยืน คุกเข่า หรือนั่ง บนพื้นทรายหรือปะการัง เพื่อเป็นการดูแลรักษาธรรมชาติที่เราเข้าไปเยี่ยมชม เพราะการลอยตัวที่ดี นั้นเพียงพอสำหรับการสำรวจธรรมชาติแล้ว
การเรียนดำน้ำ ที่จะได้มีทั้งความปลอดภัย สนุก และมีสาระ จะต้องได้มาจากการสอนที่ดี ปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งครูสอนดำน้ำมีหน้าที่ในการสอนทักษะเดี่ยวๆ และประเมินภาพรวมความพร้อมของนักดำน้ำแต่ละคนไป เพื่อให้เปิดโลกดำน้ำของคุณมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยสำหรับนักเรียนดำน้ำที่อยากประเมินตนเองว่าพร้อมออกภาคทะเลหรือไม่ สามารถประเมินตนเองหรือให้ผู้ฝึกสอนนั้นให้คำแนะนำก็ได้ ซึ่งการให้เวลาในสระมากกว่า ย่อมเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการออกปฏิบัติภาคทะเลได้อย่างแน่นอน
![](https://static.wixstatic.com/media/3ff91f_27cb700cb02e4a2ca5283d323387ca5d~mv2.png/v1/fill/w_980,h_735,al_c,q_90,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/3ff91f_27cb700cb02e4a2ca5283d323387ca5d~mv2.png)
Comentarios